กระเบื้องแสงรุ้งกลาสโมเสค
Pakarung - Think Ceramic Think Pakarung
ซิเบลโก้ มิเนอร์รัลส์ จัดหาแร่คุณภาพสำหรับอุุตสาหกรรมเซรามิคส์
Ferro
Keramat
MS Industrial Supplies
Ceramics R Us
กระเบื้องลำปาง

กระเบื้องดินเผาลำปาง อีกเอกลักษณ์หนึ่งแห่งเครื่องเคลือบเมืองลำปาง
ดร. คชินท์ สายอินทวงศ์

กระเบื้องดินเผาสีสดใส แวววาว มีเฉดสีหลากหลาย มีพื้นผิวที่แปลกตาดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมื่อปูพื้นหรือผนังแล้วทำให้เกิดความรู้สึกสบายตา สบายใจ เป็นความสวยงามที่ดูได้ไม่รู้เบื่อ มีกลิ่นอายของบรรยากาศแห่งดินแดนตะวันออก กระเบื้องดินเผาชนิดนี้ถูกเรียกขานกันในนามกระเบื้องลำปางไปโดยปริยาย เหมือนดั่งว่ากระเบื้องลำปางเป็นตัวแทนที่ใช้เรียกกระเบื้องอีกประเภทหนึ่งที่ สถาปนิก, มัณฑนากร, นักเซรามิก หรือผู้ต้องการใช้งาน รู้จักและเข้าใจได้ว่าหมายถึง กระเบื้องดินเผาที่มีเปอร์เซ็นต์การดูดซึมน้ำปานกลาง ผิวเคลือบเป็นมันวาวมีสีสันสดใส มีเฉดสีหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละแผ่น พื้นผิวแสดงความเป็นธรรมชาติของเนื้อดินจนดูเหมือนเป็นกระเบื้องที่บรรจงทำขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่จะให้มีความแตกต่างกันในแต่ละแผ่น

กระเบื้องดินเผาลำปางนี้เริ่มมีการผลิตมาตั้งแต่กว่าสามสิบปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากคุณสุเทพ วนาวัฒน์ ที่เล็งเห็นว่าสินแร่ที่มีอยู่มากมายในจังหวัดลำปางนี้สามารถนำมาใช้ผลิตเซรามิกได้เป็นอย่างดี จึงได้ตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุเทพการธรณีลำปางขึ้นและได้เริ่มผลิตกระเบื้องดินเผาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น จนมาถึงทุกวันนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทกระเบื้องดินเผาลำปาง-ไทย จำกัด นอกเหนือจากกระเบื้องดินเผาของบริษัทกระเบื้องดินเผาลำปาง-ไทย จำกัดแล้วก็ยังมีบริษัทกระเบื้องเขลางค์ จำกัด บริษัทซี-ไทยเซอรา จำกัด หจก. กระเบื้องเขลางค์ (2003) บริษัทเอส พี พี เซรามิก จำกัด โรงงานประสพสุข เซรามิค บริษัทศมาอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และหจก. รามาเซรามิค ที่ได้ทำการผลิตกระเบื้องดินเผาในรูปแบบใกล้เคียงกัน จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด สีสัน พื้นผิว หรือลวดลาย มีบ้างที่บางโรงงานได้ผลิตกระเบื้องดินเผาที่มีลักษณะใกล้เคียงกระเบื้องแกรนิตแต่เป็นเพียงเรื่องของสีสันภายในเนื้อกระเบื้องเท่านั้นเพราะคุณสมบัติที่สำคัญที่จะสามารถจัดชั้นให้เข้าสู่กระเบื้องแกรนิต(Porcelain tile) ได้นั้นการดูดซึมน้ำจะต้องมีค่าใกล้ศูนย์และความแข็งแรงหลังเผาต้องมีค่าสูงมาก (มากกว่า400 kg/m2) ซึ่งกระบวนการผลิตและเนื้อดินของกระเบื้องลำปางนั้นยังไม่สามารถจัดเข้าอยู่ในกระเบื้องประเภทนี้ได้

กระบวนการผลิต

เริ่มจากนำดินขาวลำปางที่มีอยู่มากมายในพื้นที่ ,หินผุลำปาง (Pottery stone) และหินฟันม้า นำมาบดแห้งโดยใช้เครื่องบดย่อยวัตถุดิบทั้ง Hammer mill, Edge runner mill, Pan mill (mixer) เพื่อให้วัตถุดิบแต่ละตัวมีความละเอียด จากนั้นนำมาผสมกันตามสัดส่วนที่ได้มีการทดลองไว้ ซึ่งเป็นการผสมแบบแห้ง ในกรณีที่ต้องการใส่สีหรือ effect แปลกๆลงไปในเนื้อดินก็สามารถใส่ได้ในขั้นตอนนี้ จากนั้นร่อนผ่านตะแกรงสั่นเพื่อแยกเม็ดดินที่มีขนาดใหญ่ออกไป แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในไซโลหรือบางที่อาจใช้กระสอบขนาดใหญ่ ในขั้นตอนนี้จะมีการเก็บไว้อย่างน้อย 1 วันเพื่อให้ความชื้นในเนื้อดินมีความสม่ำเสมอ หลังจากนั้นจึงนำไปขึ้นรูปโดยการอัดแบบ (pressing) ด้วยความดันสูง เครื่องpressนั้นมีทั้งแบบที่เป็น Hydraulic press และ Friction press เมื่อขึ้นรูปแล้วอาจนำไปเผาบิสกิตก่อนหนึ่งครั้งแล้วจึงนำมาชุบเคลือบแล้วทำการเผาเคลือบอีกครั้ง เรียกว่า Double firing process หรือจากกระเบื้องดิบแล้วนำไปชุบเคลือบและเผาพร้อมกันครั้งเดียวก็ได้เรียกว่า Single firing process

สำหรับเคลือบนั้นเป็นสูตรเคลือบที่ใช้วัตถุดิบสำหรับการเผาที่อุณหภูมิสูง โดยมีการเติมเศษแก้ว, เศษขวด หรือฟริตลงไปเพื่อลดจุดหลอมตัวของเคลือบและทำให้เคลือบเกิดการรานตัว (Crazing) ที่ผิวซึ่งเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของกระเบื้องลำปาง ส่วนสีสันที่สดใสนั้นได้มีการเติมพวกสีออกไซด์เช่น CoO, Fe2O3, CuO, MnO2 และสีเซรามิกลงไปในน้ำเคลือบ เนื่องจากสีออกไซด์นั้นจะค่อนข้างเปลี่ยนแปลงเฉดสีได้ง่ายเมื่ออุณหภูมิหรือบรรยากาศในเตาแตกต่างกัน รวมทั้งความหนาบางของชั้นเคลือบที่ไม่เท่ากัน ทำให้กระเบื้องเคลือบที่ใช้สีออกไซด์มีเฉดสีที่หลากหลายได้

การเคลือบนั้นส่วนใหญ่ยังใช้วิธีชุบเคลือบซึ่งผู้ผลิตเชื่อว่าจะสามารถทำให้ความหนาของชั้นเคลือบมีความแตกต่างกันในแต่ละแผ่นหรือแม้แต่ในแผ่นเดียวกัน ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการเคลือบต่ำและต้องใช้แรงงานคนรวมทั้งต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญของพนักงานผู้ชุบเคลือบด้วย

การเผานั้นใช้เตาที่เผาเป็นแบบครั้งคราว(Shuttle kiln) เตาอุโมงค์ (Tunnel kiln) และRoller kiln ซึ่งShuttle kiln และ Tunnel kilnนั้นจะเกิดความแตกต่างของอุณหภูมิ ความแตกต่างของบรรยากาศภายในเตาในแต่ละตำแหน่งของเตาทำให้กระเบื้องที่ใช้เคลือบสูตรที่ใช้วัตถุดิบและสีออกไซด์นั้นจะมีเฉดสีที่มีความแตกต่างกันในแต่ละตำแหน่งของเตาแต่เมื่อนำมาปูรวมกันในพื้นที่เดียวกันโดยอาศัยเทคนิคในการคละเฉดในการปูแล้วจะเกิดความสวยงามที่ดูได้ไม่รู้เบื่อ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของกระเบื้องประเภทนี้ แต่ข้อเสียของการเผาด้วย Shuttle kiln และ Tunnel kiln คือผลผลิตที่ได้ต่อวันต่ำ, อัตราการใช้แก็สต่อปริมาณการผลิตที่ได้สูง(เมื่อเปรียบเทียบกับ Roller kiln), ใช้พนักงานในการเรียงกระเบื้องมาก(เมื่อเทียบกับยอดกระเบื้องที่ได้)และควบคุมคุณภาพของกระเบื้องได้ยาก(คุณภาพในแง่ของการใช้งาน เช่น การดูดซึมน้ำ, ขนาดในแต่ละแผ่น, ความโค้งแอ่นของแผ่นกระเบื้อง) สำหรับเตาเผาทั้งหมดนี้จะใช้เชื้อเพลิงเป็นแก็สธรรมชาติที่เป็นแบบเหลว (Liquid petroleum gas)ซึ่งมีราคาสูงกว่าแก็สธรรมชาติปกติ เนื่องจากที่ลำปางยังไม่มีท่อแก็สธรรมชาติต่อมาถึง

ในด้านการควบคุมคุณภาพนั้นเนื่องจากผู้ผลิตยังมองว่ากระเบื้องลำปางนั้นเป็นงานฝีมือและลูกค้าที่ซื้อไปก็เพราะชอบในรูปลักษณ์และความมีเอกลักษณ์ดังนั้นคุณสมบัติที่สำคัญๆที่ใช้ควบคุมคุณภาพของกระเบื้องนั้นจึงยังไม่ได้รับการควบคุมเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับกระเบื้องเซรามิกของผู้ผลิตรายใหญ่ๆของประเทศ

คุณสมบัติที่สำคัญของกระเบื้องดินเผาลำปาง

1. การดูดซึมน้ำของกระเบื้องมีค่าปานกลางค่อนไปทางสูงเนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตกระเบื้องลำปางนั้นมีความทนไฟสูง และในกระบวนการผลิตมีการเติมตัวที่ช่วยในการหลอมตัวเช่นหินฟันม้าในปริมาณที่ไม่สูงมากนัก ประกอบกับการเตรียมเนื้อดินยังใช้การบดแบบแห้ง ซึ่งทำให้ความละเอียดของอนุภาคของหินผุลำปาง, หินฟันม้าและดินขาวที่ใช้มีความละเอียดไม่มากพอที่จะทำให้เนื้อดินมีการหลอมตัว(sintering)ที่ดีแม้จะทำการเผาที่อุณหภูมิสูงก็ตาม ดังนั้นเนื้อดินจึงยังมีการดูดซึมน้ำที่สูงอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับกระเบื้องเนื้อstone wareที่ใช้การเตรียมเนื้อดินแบบบดเปียก

2. ความทนทานต่อการขูดขีดของผิวเคลือบต่ำเนื่องจากผิวเคลือบผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นfluxเช่นโซเดียมเฟลดสปาร์, เศษแก้วในปริมาณสูง

3. ความแข็งแรงหลังเผามีค่าปานกลางเนื่องจากเนื้อดินยังมีความเป็นแก้ว (Glassy phase) ค่อนข้างต่ำ

4. สีสันมีความสดใสเนื่องจากใช้วัตถุดิบที่มีความเป็นfluxสูงและใช้สีออกไซด์ช่วยเติมลงไปรวมทั้งมีการเผาที่อุณหภูมิสูงทำให้ผิวเคลือบมีความเป็นแก้วสูง และพื้นผิวเคลือบอาจมีรอยแตกราน (Crazing) ได้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของกระเบื้องลำปาง

5. เฉดสีในแต่ละแผ่นหรือแม้แต่ในแผ่นเดียวกันมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งเมื่อได้ช่างปูกระเบื้องที่เข้าใจในเรื่องเฉดสีและทำการปูผสมกันอย่างกลมกลืนก็จะได้พื้นที่ที่มีความสวยงาม มีมิติของสี และมองความงามได้ในหลายมุม

6. ขนาดของกระเบื้องมีค่าความแตกต่างกันค่อนข้างสูงทำให้เวลาปูต้องเว้นแนวร่องหรือช่องยาแนวค่อนข้างกว้างเมื่อเทียบกับกระเบื้องปูพื้น สาเหตุที่ขนาดของกระเบื้องมีความแตกต่างกันมากในแต่ละแผ่นนั้นสืบเนื่องมาจาก
      - กระบวนการในการเตรียมเนื้อดินซึ่งในการเตรียมเนื้อดินแบบแห้งนั้นการผสมกันของวัตถุดิบไม่ดีพอทำให้การหดตัวของกระเบื้องมีความแตกต่างกันได้
      - การเติมผงดินลงไปใน cavity mould ยังมีความผันแปรสูง
การควบคุมน้ำหนักของดินในแต่ละครั้งของการขึ้นรูปนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากรวมทั้งการ charge ผงดินลงไปใน cavity mould ด้วย
      - การควบคุมค่าความดันของการขึ้นรูป (Pressing pressure)ของเครื่องเพรสยังไม่ สามารถควบคุมได้ดีพอและให้มีความผันแปรมาก
      - อุณหภูมิในการเผาของเตาแบบ shuttle และ tunnel มีความแตกต่างของอุณหภูมิค่อนข้างสูงจึงทำให้ขนาดที่ได้ในแต่ละตำแหน่งของเตามีความแตกต่างกัน



ในปัจจุบันกระเบื้องดินเผาลำปางได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากจากความที่มีลักษณะโดดเด่นทั้งในเรื่องของสีสัน พื้นผิว เฉดสี และเอกลักษณ์ต่างๆเช่นการรานตัวของผิวเคลือบ จุดสี สนิมเหล็กที่มาจากวัตถุดิบซึ่งทำให้ผิวเคลือบดูเป็นธรรมชาติ ผู้ใช้งานมักนำกระเบื้องนี้ไปปูในพื้นที่พักผ่อน มุมสงบ หรือที่บ้านพักตากอากาศหลังที่สอง เพื่อให้มีบรรยากาศของการผ่อนคลาย รื่นรมย์ รวมทั้งสปาต่างๆที่นิยมใช้กระเบื้องลำปางกันอย่างแพร่หลายเนื่องจากสามารถสร้างบรรยากาศของดินแดนตะวันออกได้เป็นอย่างดี

มีผู้ผลิตหลายรายได้เริ่มหันมาผลิตกระเบื้องดังกล่าวเนื่องจากความต้องการในตลาดยังมีอยู่อีกมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการใช้กระเบื้องทั้งประเทศแล้วยังนับได้ว่าความต้องการใช้กระเบื้องลำปางยังมีอยู่เป็นสัดส่วนที่น้อยซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีของผู้ผลิตในจังหวัดลำปางที่บริษัทผลิตกระเบื้องรายใหญ่ยังแค่มองดูชิ้นเค้กก้อนนี้เพราะศักยภาพของบริษัทเหล่านั้นจะสามารถผลิตกระเบื้องดินเผาลำปางได้โดยมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าโรงงานในลำปางอย่างมาก ดังนั้นเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ได้ผู้ผลิตในจังหวัดลำปางต้องคำนึงถึงการลดต้นทุนอย่างยิ่งยวดทั้งต้นทุนของเนื้อดิน,ปริมาณการใช้เนื้อดินต่อตารางเมตร,ต้นทุนของสีเคลือบ,gas consumption รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อให้มีปริมาณการผลิตที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเครื่องจักร(โรงงานลำปางที่ใหญ่ที่สุดสามารถผลิตกระเบื้องได้ประมาณ2000-3000 ตารางเมตรต่อวันโดยมีพนักงานกว่าสองร้อยคน ในขณะที่โรงงานผลิตกระเบื้องขนาดใหญ่สามารถผลิตกระเบื้องจำนวนนี้ได้โดยใช้เวลาเพียงหนึ่งกะทำงานโดยใช้เพียงหนึ่งสายเคลือบเท่านั้นและใช้คนงานเพียงไม่เกิน 6 คน) นอกจากนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการควบคุมคุณภาพก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะทำให้สินค้าของลำปางเป็นที่ยอมรับของลูกค้าแม้ว่าลูกค้าอาจต้องจ่ายแพงกว่าสินค้าของเจ้าอื่นโดยสร้างความแตกต่างเพื่อให้ลูกค้าประทับใจ

ขอขอบคุณ บริษัทกระเบื้องดินเผาลำปาง-ไทย จำกัด, บริษัทกระเบื้องเขลางค์(2003) จำกัด, บริษัทศมาอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด