กระเบื้องแสงรุ้งกลาสโมเสค
Pakarung - Think Ceramic Think Pakarung
ซิเบลโก้ มิเนอร์รัลส์ จัดหาแร่คุณภาพสำหรับอุุตสาหกรรมเซรามิคส์
Ferro
Keramat
MS Industrial Supplies
Ceramics R Us
อุตสาหกรรมเซรามิกไทย

อุตสาหกรรมเซรามิกไทยสู้จีนไม่ได้จริงหรือ?
MR. Cer-con

สำหรับตัวผมนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมเซรามิกของบ้านเรามานานพอสมควร เคยอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่ เคยไปทำงานยังต่างประเทศ เคยสร้างระบบต่างๆเพื่อการพัฒนาคุณภาพในหลายๆบริษัท เป็นที่ปรึกษาของโรงงานทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นผู้ตรวจติดตามระบบคุณภาพ ISO ของ CB ต่างประเทศ และมีอีกงานหนึ่งที่ทำให้กระตุ้นให้ผมได้เขียนบทความนี้ขึ้นมา นั่นคือรับเป็นผู้ตรวจสินค้าก่อนส่งขึ้นตู้ของบริษัท Sourcing ต่างประเทศรายใหญ่รายหนึ่งของโลก ที่ซึ่งไม่เลือกสินค้าเฉพาะเมืองไทย แต่พวกเขาตระเวนไปทั่วโลกเพื่อให้ได้สินค้าที่ถูกใจ ทั้งในด้านการออกแบบ การใช้งาน คุณภาพ และราคา โดยทีมของเขาจะแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแก้ว ผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับการตกแต่ง ผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับงานบนโต๊ะอาหาร รวมทั้งวัสดุอื่นๆทั้งไม้ เหล็ก อลูมิเนียม ไฟเบอร์ ผ้า แม้กระทั่งพลาสติก

มีหัวหน้าทีมคัดเลือกสินค้าคนหนึ่งถามผมด้วยคำถามง่ายๆ ที่พวกเราคนในวงการเซรามิกบ้านเราก็มักจะตอบง่ายๆ โดยทันทีรวมทั้งตัวผมด้วย เขาถามว่าเขาไม่เข้าใจเลยว่าทำไมสินค้าเซรามิกของไทยจึงแพงกว่าเมืองจีน หรือแม้กระทั่งเวียดนามมากนัก ผมก็ตอบกลับไปในทันควันโดยไม่ต้องคิดเลย เพราะมันถูกฝังอยู่ในหัวผมอยู่แล้ว “ การที่เซรามิกเมืองไทยแพงกว่าจีนก็เพราะวัตถุดิบเมืองจีนถูกกว่าไทยนะสิ “ ฝรั่งนายนั้นพยักหน้านิดๆแล้วย้อนถามผมว่า “คุณแน่ใจหรือ ? วัตถุดิบที่ว่านี่คือดิน หิน หรือ.....” ด้วยความที่นายคนนี้อยู่ที่จีนมานาน นานจนเขาพูดจีนกลางได้อย่างคล่องแคล่ว พูดได้ดีจนน่าประหลาดใจ ทำให้ผมหยุดคิดเล็กน้อย จริงสิวัตถุดิบที่นำมาทำเนื้อดินทั้งดินดำ ดินขาว ทราย เฟลดสปาร์ หินปูน หินผุ ในบ้านเราก็มีอยู่มากมาย ราคาก็ไม่ได้สูงกว่าวัตถุดิบที่จีนเลย ด้วยความกลัวเสียหน้าของคนไทยก็เลยตอบกลับไปอีกอย่างรวดเร็ว “ ก็วัตถุดิบพวกสี สารเคมี ฟริต สำหรับทำเคลือบนั้น จีนถูกกว่าเมืองไทยแน่นอน” ผมตอบอย่างมั่นใจและคิดว่านายนั่นต้องคล้อยตามเป็นแน่ คุณฝรั่งยิ้มแบบเย้ยๆในทีแล้วถามว่า “แต่ก็มีบริษัทนำเข้าวัตถุดิบจากจีนเข้ามาเยอะไม่ใช่หรือ แล้วความแตกต่างของราคาเมื่อเทียบกับ%สัดส่วนของสีเคลือบบนผลิตภัณฑ์มันจะต่างกันสักกี่% แต่นี่ราคาขายของพวกคุณมันต่างจากจีนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เชียวนะ” ด้วยงานในพักหลังๆผมใช้วัตถุดิบจากจีนมาเยอะพอสมควร ซื้อมาจากบริษัทที่นำเข้าวัตถุดิบบ้าง ไปซื้อเองโดยตรงจากผู้ผลิตที่จีนบ้าง ราคาก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่แน่นอนว่าต่างจากวัตถุดิบของอิตาลี สเปน อังกฤษ หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นอยู่พอสมควร ก็อย่างที่นายคนนี้พูด ด้วยความแตกต่างของราคาที่จีน กับที่นำเข้ามาถึงเมืองไทยไม่แตกต่างกันนัก และยิ่งเมื่อนำไปใช้ในสีเคลือบซึ่งใช้ในเปอร์เซ็นต์ไม่สูงมาก เมื่อคำนวณมาเป็นต้นทุนด้วยแล้วก็แทบไม่แตกต่างกันจนเราจะใช้มาเป็นข้ออ้างในการสร้างราคาสินค้าที่สูงกว่าจีนมาก สมองตอนนั้นเริ่มจะสั่งการด้วยคำตอบสุดท้าย และเชื่อว่าผู้ประกอบการบ้านเราเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คงตอบเหมือนผม แต่ก่อนที่คำตอบสุดท้ายจะถูกยิงออกไป ผมก็โดนดักคอมาก่อน โดยเขาพูดว่าเรื่องพลังงานคงไม่ใช่ประเด็นนะ แน่นอนผมคงไม่ตอบเรื่องพลังงานแน่ ผมเคยทำงานอยู่ที่ปักกิ่ง เคยเห็นโรงงานในแถบฝัวซาน แถบกวางเจา ปักกิ่งหน้าหนาวนั้นหนาวจนทำงานไม่ได้ ต้องมีพลังงานความร้อนให้ความอบอุ่นทั้งคน ทั้งน้ำดิน ทั้งสีเคลือบ ไม่งั้นจะพลอยแข็งกันหมด เมื่อปีที่แล้วไปเยี่ยมโรงงานที่ฝัวซาน เห็นการหยุดโรงงานทั้งวันเนื่องจากกระแสไฟฟ้ามีไม่เพียงพอจำเป็นจะต้องผลัดกันหยุดโรงงานในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ได้มีกระแสไฟฟ้าใช้กันได้อย่างทั่วถึง ผู้ที่อยู่ในโรงงานเซรามิกย่อมเข้าใจดีว่าการหยุดโรงงานไม่ใช้เรื่องสนุกหรือง่ายๆ โดยเฉพาะโรงงานต้องผลิตอย่างต่อเนื่อง ใช้เตาเผาทั้งเตาอุโมงค์และเตาโรลเลอร์ ดังนั้นต้นทุนเรื่องพลังงานเราไม่สมควรเป็นรอง ยิ่งในปัจจุบันเรายังมีแหล่งสำรองกาซธรรมชาติจากอ่าวพม่าส่งเข้ามาทางกาญจนบุรี ซึ่งต้นทุนค่าเชื้อเพลิงนั้นเราสามารถสู้กับจีนได้ทีเดียว

คำตอบสุดท้ายของผมคือเรื่องค่าแรง ผมตอบด้วยความเคยชินและคิดว่าเป็นไม้ตายที่จะตอบ ไม่ว่าตอบให้ฝรั่งคนนี้หรือคนไหนๆที่จะมาถามพวกเราผู้ประกอบการไทย หรือแม้กระทั่งตอบตัวเองเพื่อปลอบใจยามที่รู้ว่าฝรั่งเหล่านั้นได้หนีจากเราไป ไปยังที่ๆราคาสินค้าถูกกว่า บริษัท Sourcing รายนี้มีสาขาอยู่ที่เมืองจีนในหลายมณฑล มีการจ้างงาน ออเดอร์สินค้าทั้งเครื่องแก้ว เซรามิก และวัสดุอื่นๆเฉพาะประเทศจีนเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทดังนั้นเขาจำเป็นต้องรู้รายละเอียดของผู้ผลิตรายต่างๆของจีน สำหรับในเมืองไทยก็เช่นกัน คุณฝรั่งคนนี้ยืนยันได้ว่าค่าแรงคนจีนไม่ได้ต่ำกว่าค่าแรงคนไทยเลย ความคิดแบบนี้อาจจะจริงเมื่อหลายปีก่อนตอนที่เราจ้างวิศวกรจีนทำงานที่ปักกิ่งด้วยเงินเดือนสามพันบาท แต่ไม่ใช่ในปีพ.ศ นี้ ค่าแรงในแถบเซี่ยงไฮ้ กวางเจา จะสูงกว่าค่าแรงบ้านเราด้วยซ้ำ ถึงแม้ในแถบชนบทห่างไกลค่าแรงอาจจะยังถูกอยู่ แต่อย่าลืมว่าค่าแรงก็ไม่ใช่ต้นทุนอันดับแรกๆของโครงสร้างต้นทุน

เขาเลยฝากมาให้ผมคิดแล้วลองหาคำตอบที่แท้จริงดู ผมได้วิเคราะห์ไตร่ตรองอยู่หลายวัน จากการงานในปัจจุบันที่ต้องพบเห็นระบบงานทั้งโรงงานขนาดใหญ่จนไปถึงเล็ก ทั้งกระเบื้องเซรามิก กระเบื้องหลังคา สุขภัณฑ์ กระถางเทอร์ราคอตตา ของตกแต่ง ถ้วยชาม แก้วคริสตัล วัสดุทนไฟ ผมพอที่จะเห็นปัญหาและอยากจะมาแชร์ร่วมกันให้พวกเราผู้ผลิตไทยได้ลองเปิดใจรับฟัง

ประการแรกที่เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนคือประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน จะเห็นได้ว่าคนงานจีนมีความขยันขันแข็ง สู้งานกว่าคนงานบ้านเรานัก ผมเคยเห็นโรงงานผลิตกระเบื้องที่มีพนักงานยืนเก็บกระเบื้องอยู่ท้ายเตา โดยไม่ต้องมีเครื่องจักรอัตโนมัติเหมือนอย่างโรงงานในบ้านเรา นั่นหมายความว่าจำนวนเงินลงทุนก็จะลดลงด้วยเพราะไม่ต้องไปลงทุนยกเครื่องมาแบบ Turn key แบบที่โรงงานใหญ่ๆของเราชอบทำ ถ้าจะเปรียบเล่นๆให้เห็นภาพก็น่าจะประมาณได้ว่าต้องใช้คนงานไทยสัก 3 คนจึงจะทำงานเท่ากับคนจีนหนึ่งคน

ประการถัดมานั้นการที่ไม่มีระบบการคิดต้นทุนมาตรฐานที่ถูกต้องแม่นยำ ทำให้ผู้ผลิตในบ้านเราเสียโอกาสในการขายไปเยอะพอสมควร โดยทั่วไปแล้วบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในเมืองไทยให้ความสำคัญกับเรื่องต้นทุน (STD cost) น้อยมาก ขอแค่มีเงินสดหมุนเวียน คำนวณคร่าวๆจากรายรับและรายจ่ายแล้วพบว่ายังมีกำไร ก็ถือว่าดำเนินธุรกิจได้แล้ว แต่ในความเป็นจริงการรู้ค่าต้นทุนมาตรฐานและค่าความแตกต่างของต้นทุนจริงที่ทำได้ จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าเรื่องใดเป็นจุดอ่อนและเรื่องใดสามารถลดต้นทุนได้ นอกจากนี้เมื่อเรารู้ต้นทุนที่แน่นอนจะทำให้เราตั้งราคาขายได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราอาจขายได้ในราคาที่ต่ำลง ถึงแม้กำไรต่อหน่วยอาจลดลงบ้างแต่ก็ยังดีกว่าสูญเสียลูกค้าไปเลย

ความมุ่งมั่นของคนในชาติก็เป็นอีกประเด็นที่ควรจะพูดถึง เนื่องจากประวัติศาสตร์ชาติไทยแต่โบราณเราไม่เคยต้องเดือดร้อนกับภาวะสงครามเหมือนอย่างจีน, ญี่ปุ่น, เวียดนาม เรามีคำติดปากเราเสมอคือ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ซึ่งหมายถึงดินแดนเรามีความสุขสบายอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นคนในชาติจึงไม่มีความคิดที่จะต้องดิ้นรนขนขวายแบบคนจีนที่ลำบากยากเข็ญมาก่อน รวมทั้งนิสัยใจคอของคนไทยด้วย เราเป็นชาติรักสงบ การพูดจากันก็จะเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้ในความสัมพันธ์แบบหัวหน้ากับลูกน้อง หลายๆครั้งที่ผมเห็นหัวหน้าที่ไม่กล้าดุลูกน้องหรือแม้แต่ไปทำงานแทนเพียงเพราะเกรงใจลูกน้อง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าแปลกและอาจพบเห็นได้ทีเดียวในโลกก็เป็นได้

ความรวดเร็วในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็น Research and development หรือ Copy and development ก็ยังถือได้ว่าช้ากว่าจีนมาก หลายครั้งที่เราคิดค้นหรือพัฒนาขึ้นมาก่อนแต่สุดท้ายถูกจีนตัดหน้าในการผลิตไป เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง บริษัท Sourcing สัญชาติยุโรปได้แจ้งให้ผมทราบว่าเขาได้ขอยกเลิกออเดอร์สินค้าของบริษัทผลิตเซรามิกในเมืองไทยแห่งหนึ่ง สาเหตุมาจากบริษัทดังกล่าวผิดนัดในการส่งมอบ โดยผลัดมาหลายครั้งแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ส่งเมล์มาบอกว่าขอเลื่อน ทางบริษัทนี้ก็เลยเมล์ไปบอกว่าไม่ต้องการสินค้าแล้ว และแจ้งกับผมว่าจะขอย้ายสินค้าดังกล่าวไปผลิตที่เวียดนามแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับคนไทยด้วยกันที่ทราบข่าว แม้ว่าจะชอบใจที่จะได้ไปเที่ยวเวียดนามก็ตาม ฝรั่งนายนี้บอกว่าราคาที่สูงกว่าของไทยเขายังพอรับได้ แต่การผิดนัดการส่งมอบนั้นเป็นเรื่องที่ซีเรียสมากสำหรับบริษัทเขา เพราะสินค้าต่างๆนั้นเขาจะต้องมีการวางแผนไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าจะขายในช่วงใด เมื่อการส่งมอบผิดพลาดก็จะทำให้เขาผิดแผนไปด้วย และที่สำคัญความเชื่อถือต่อตัวบริษัทผู้ผลิตรายนั้นๆก็จะหมดไป

นอกจากนี้การร่วมมือกันของคนในอุตสาหกรรมเซรามิกของจีนดูเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก ตัวอย่างที่ผมชอบมากๆคือครั้งหนึ่งผมติดต่อขอสีโทนใหม่จากพนักงานสาวจีน เธอบอกว่าสีโทนนี้บริษัทเธอไม่ได้ทำ แต่เดี๋ยวเธอจะลองถามบริษัทอื่นดูให้ว่ามีหรือไม่ ผมลองนึกตามว่าถ้าเป็นบริษัทสีในบ้านเราจะมีเหตุการณ์เช่นนี้ไหม ในโรงงานผลิตก็เช่นกัน พวกเขาสามารถพูดคุย เข้าไปดูเครื่องของแต่ละโรงงานได้อย่างไม่ปิดบังกัน แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว ในโรงงานเปรียบเหมือนเขตหวงห้ามพิเศษที่เต็มไปด้วยความลับ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะหวงความลับอะไรกันนักจนทำให้เหมือนต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนสุดท้ายเราก็จะอ่อนแอจนไม่สามารถสู้กับคู่แข่งขันได้

ข้อสังเกตเหล่านี้เป็นข้อที่เราแก้ไขได้ทั้งสิ้น หลังจากนั้นเราจะได้ไปวิเคราะห์จุดอ่อนของจีนดูบ้าง เพื่อนำมาสร้างเป็นจุดแข็งของเราในการพัฒนาศักยภาพของบริษัทของไทย จุดอ่อนที่ชัดเจนของจีนคือการทำงานเขายังไม่มีระบบที่ดีนัก ยังมีความสูญเสียเกิดขึ้นมากมายในการทำงาน ถ้าเราปรับตัวในแง่การลดต้นทุน, จัดทำระบบต้นทุนที่ชัดเจน, สร้างพนักงานที่มีคุณภาพ, พัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็ว และสร้างระบบการบริหารงานที่ดีไม่ว่าจะเป็นระบบ TQM (Total Quality Management) ระบบ TPM (Total Productivity Management) การนำ Six sigma เข้ามาใช้ รวมทั้งการใช้เครื่องมือในการบริหารการผลิตและการตลาดอีกมากมาย และผู้ผลิตต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ควรเปลี่ยนวิธีคิดกันเสียใหม่ว่าคู่แข่งของเราไม่ใช่บริษัทในประเทศด้วยกัน แต่เป็นบริษัทภายนอกที่จะเข้ามากินส่วนแบ่งของเราไป ก็จะช่วยให้เราสามารถต่อสู้กับจีนได้อย่างไม่ยากเย็น ในฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่งขอเอาใจช่วยผู้ผลิตทุกท่านให้สามารถฟันฝ่าวิกฤตในช่วงนี้เพื่อความเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต