กระเบื้องแสงรุ้งกลาสโมเสค
Pakarung - Think Ceramic Think Pakarung
ซิเบลโก้ มิเนอร์รัลส์ จัดหาแร่คุณภาพสำหรับอุุตสาหกรรมเซรามิคส์
Ferro
Keramat
MS Industrial Supplies
Ceramics R Us
Re-branding ศูนย์ศิลปาชีพ

Re-branding ศูนย์ศิลปาชีพ
ดร. คชินท์ สายอินทวงศ์

สภาพแวดล้อมในโรงงานที่บ้านแม่ต๋ำ จ.ลำปาง
เมื่อกลางปีที่แล้วทางสำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการได้มาทาบทามให้ผมเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับทางโครงการศิลปาชีพทั้งสามแห่งคือที่บ้านกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร บ้านแม่ต๋ำ และบ้านทุ่งจี้ จังหวัดลำปาง ในวูบแรกของทุกคนในวงการเซรามิกเมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์เซรามิกจากศูนย์ศิลปาชีพก็คงนึกภาพคล้ายๆกันกับผมคือเป็นเซรามิกชิ้นโตๆ เขียนลวดลายวิจิตรบรรจงเต็มใบแทบไม่มีช่องว่างไว้เลย มีสีตุ่นๆขาดสีสัน ดีไซน์ของชิ้นงานเป็นแบบดั้งเดิมสมัยเก่าที่แจกันต้องเป็นปากแตรกว้างๆมีเอวมีสะโพก เมื่อครั้งแรกที่ได้ไปสัมผัสของจริง สถานที่จริงก็ยังเป็นอย่างที่เคยเห็นเมื่อเนิ่นนานมาแล้วเช่นเดิม ความตั้งใจเดิมที่จะเข้าไปสอนและแนะการพัฒนาสินค้าใหม่ให้กับทางศูนย์ฯต้องเปลี่ยนไป เพราะด้วยความเป็นจริงแล้วสมาชิกในศูนย์ฯมีความสามารถในการทำเซรามิกได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการปั้นทั้งแป้นหมุนและปั้นอิสระ ผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิม ในห้องโชว์สินค้า บ้านแม่ต๋ำ
สมาชิกสามารถปั้นงานชิ้นใหญ่ๆได้สบายมาก การทำแบบพิมพ์สำหรับงานหล่อแบบ การเคลือบสี การเขียนลายที่ต้องบอกว่าผลงานการเขียนลายของสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพนั้นเหนือชั้นกว่าโรงงานเซรามิกทั่วๆไปมากด้วยความวิจิตรบรรจงของลวดลายและความพยายามในการเขียน เหตุผลมาจากสมาชิกในศูนย์นั้นทำงานเหล่านี้มานานจนเกิดความชำนาญ สมาชิกมีการลาออกน้อยมาก (เมื่อเทียบกับ%Turn over ของคนงานในโรงงานเซรามิกทั่วๆไป) ปัญหาของศูนย์ศิลปาชีพจริงๆนั้นอยู่ที่วิธีคิดของคนในองค์กร ทัศนคติของสมาชิกในการทำงาน ระบบการวัดประสิทธิภาพของงาน และที่สำคัญที่สุดคือองค์กรยังไม่มีความคิดที่จะมุ่งเน้นต่อการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ยกตัวอย่างเช่นการเขียนลาย ทางศูนย์ฯจะเขียนลวดลายเกี่ยวกับความเป็นไทย เรื่องในวรรณคดี ซึ่งสมาชิกที่เขียนลายก็จะเขียนกันเช่นนี้มาตลอดเมื่อเผางานออกมาก็เอาไปตั้งโชว์ไว้ในห้องแสดงสินค้าเพื่อรอวันที่จะพบกับใครสักคนที่ชอบงานเช่นนี้ การปั้นก็อาศัยรูปทรงแบบเดิมๆ ความชำนาญแบบเดิมๆ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่ออกมาก็จะดูคล้ายๆกันไปหมด และเหมือนกันทั้งสามศูนย์ศิลปาชีพ

รูปแบบและลวดลายแบบ Original ที่บ้านแม่ต๋ำ
ความเป็นมาในการตั้งศูนย์ศิลปาชีพนั้น เป็นพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯที่จะช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากความยากจนในชนบทห่างไกล ดังนั้นชาวบ้านในชุมชนแต่ละแห่งเมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็มีความภาคภูมิใจและรักที่จะทำงานอยู่ที่นี่ตลอด โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีหน่วยงานต่างๆเข้าไปฝึกอบรมความรู้และทักษะในการทำเซรามิกให้กับสมาชิก โดยเฉพาะทางกรมวิทยาศาสตร์ที่ได้อนุเคราะห์ทั้งบุคลากรในการถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนวัตถุดิบในการผลิตแทบจะทุกอย่างตั้งแต่ดิน วัตถุดิบสำหรับสีเคลือบ สีเขียนลาย ปูนปลาสเตอร์ แต่รูปแบบในการผลิตชิ้นงานยังออกมาคล้ายๆเดิม จากการวิเคราะห์ปัญหาในช่วงเวลาที่ได้เข้ามาคลุกคลีกับศูนย์ฯทั้งสามแห่งนี้พอจะสรุปได้ดังนี้

ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้น
ข้อแรก
ศูนย์ศิลปาชีพยังไม่มีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า สมาชิกและอาจารย์ผู้ดูแลศูนย์ยังทำงานตามความถนัดของตนเองที่ถูกฝึกฝนกันมาเป็นสิบๆปี ยังไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับโลกในยุคใหม่ที่ลูกค้ามีความต้องการหลากหลายและเปลี่ยนใจไปตามกระแสแฟชั่นแทบจะทุกนาที ทำให้แทบจะไม่มีการพัฒนารูปแบบใหม่ สีสันใหม่ที่ทันสมัย
ข้อที่สอง
สมาชิกยังมีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำมาก ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่อาจโทษสมาชิกอย่างเดียว เพราะเนื่องจากสมาชิกเองก็ไม่มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน ไม่มีตัวชี้วัด (KPI) ไม่มีระบบการประเมินผลที่จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและกระตือรือร้นในการทำงาน งานบางชิ้นถ้าคำนวณต้นทุนในการผลิต โดยเฉพาะค่าแรงในการเขียนลายก็ไม่คุ้มแล้วเพราะแจกันบางใบที่ลวดลายวิจิตร อาจใช้เวลาในการเขียนถึง 5 เดือน ซึ่งแน่นอนว่าคนเขียนไม่ได้ใช้เวลาวันละ 8 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ในการเขียนจนครบ 5 เดือน เพราะในระหว่างวันก็ค่อยๆเขียน มีหยุดพักพูดคุย พักสายตา พักทานอาหาร พักทานของว่าง พักเลี้ยงลูก (เป็นที่ทำงานเดียวที่ผมเห็นว่าสามารถนำเอาลูกเล็กเด็กแดงมาวิ่งเล่นและมาเลี้ยงดูกันขณะทำงาน เคยถามอาจารย์ประจำศูนย์ว่าเคยมีเด็กวิ่งชนของแตกบางไหม อาจารย์บอกว่า “ประจำ” ) บางวันต้องหยุดงานไปเพราะมีงานบวชในหมู่บ้าน บางช่วงต้องทิ้งงานไปเลยหลายวันเพราะเป็นช่วงฤดูทำนา ถ้าแจกันใบเดียวกันนี้ดูจากความสลับซับซ้อนของลวดลายแล้วประเมินออกมา ตั้งเป้าหมายให้สมาชิกเขียนให้เสร็จภายในหนึ่งเดือน ผมก็ว่าเขาทำเสร็จตามกำหนด
ข้อที่สาม
อัตราของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก เพราะยังไม่มีการควบคุมกระบวนการที่ดีในทุกขั้นตอน อัตราการสูญเสียเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน การเตรียมสีเคลือบ การขึ้นรูป การอบแห้ง การเผาบิสกิท การเคลือบ การเผาเคลือบ
ข้อที่สี่
ต้นทุนในการผลิตยังไม่มีการคำนวณ จึงยังไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริงทำให้การตั้งราคาขายก็จะเป็นไปตามความรู้สึกของคนตั้ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะขาดทุนตั้งแต่แรกแล้วหรือบางทีอาจตั้งราคาขายสูงเกินไปจนเสียโอกาสในการขาย นอกจากนี้จากการคำนวณต้นทุนคร่าวๆพบว่าต้นทุนการผลิตมีค่าสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานของอุตสาหกรรมเซรามิก ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องลดต้นทุนอย่างเร่งด่วน
ข้อที่ห้า
การตลาดของทางศูนย์ฯยังไม่มี และช่องทางในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก็ยังมีน้อย ส่วนใหญ่ยังใช้การตั้งขายอยู่ที่ห้องแสดงสินค้าในศูนย์ฯ ซึ่งคงมีน้อยคนนักที่จะดั้นด้นเข้าไปยังบ้านกุดนาขาม กิ่งอำเภอเจริญศิลป์ สกลนคร ที่ห่างจากตัวเมืองสกลนครหรือตัวเมืองอุดรธานีกว่า 90 กิโลเมตร หรือถ้าต้องการไปหาเซรามิกที่บ้านแม่ต๋ำก็ต้องออกจากตัวเมืองลำปางไปกว่าสองชั่วโมง จะมีก็แต่บ้านทุ่งจี้ที่ยังอยู่ในทำเลที่จะมีโอกาสในการขายเพราะอยู่บนเส้นทางที่จะไปยังอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน แต่ก็ห่างจากตัวเมืองลำปางเกือบหนึ่งชั่วโมงเช่นกัน
ข้อที่หก
ไม่สามารถที่จะการันตีการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นลูกค้าต่างประเทศทางศูนย์ฯจะไม่กล้ารับออเดอร์เลยเนื่องจากทางศูนย์ฯเองไม่สามารถจะควบคุมอัตราการผลิต อัตราของเสีย และที่สำคัญคือควบคุมสมาชิกให้มาทำงานได้ทุกวัน โดยเฉพาะหน้าทำนาเกี่ยวข้าว เพราะสมาชิกทุกคนมีสิทธิที่จะหยุดงานไปทำนาได้โดยไม่ได้มีข้อกำหนดเหมือนอย่างพนักงานในโรงงาน


จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดจึงเห็นว่าถ้ามาสอนแค่เพียงให้สูตรเคลือบใหม่ ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ คงไม่เพียงพอ แต่ควรจะแก้ไขทั้งองค์กร จึงได้จัดอบรมสมาชิกทั้งหมดของแต่ละศูนย์ฯใช้เวลาศูนย์ฯละสองวันทั้งที่สกลนครและที่ลำปางทั้งสองศูนย์ฯ ในหัวข้อเรื่องการบริหารงานคุณภาพทั่วทั้งองค์กรหรือ TQM ที่เป็นที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนว่า TQM version ศูนย์ศิลปาชีพ ที่ให้สมาชิกซึ่งก็คือชาวบ้านในชุมชนแถวนั้นมาเข้าอบรมย่อมต้องเป็น version สำหรับชาวบ้าน แต่หัวใจ แก่นแท้และแนวคิดแบบ TQM ยังอยู่ครบถ้วน เพราะถ้าเราเข้าใจลึกซึ้งถึงแก่นของ TQM แล้วจะรู้เลยว่าการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนทัศนคติของคนในองค์กรเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ถ้าคนในองค์กรพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะปรับปรุงและมีหัวใจที่จะทำTQM จะไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะสำเร็จ แม้ในองค์กรที่ไม่มีผู้จัดการโรงงาน ไม่มีวิศวกร ไม่มีนักเซรามิก ไม่มีนักบัญชี ไม่มีนักการตลาด เริ่มต้นผมก็เล่าความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันที่โลกของเราแบนราบลงทุกวัน ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ผลที่จะกระทบต่อองค์กรที่ปรับตัวช้าอย่างศูนย์ศิลปาชีพ และโยงเข้าสู่ผลที่จะกระทบต่อสมาชิกในศูนย์ฯเอง ทุกวันนี้ศูนย์ศิลปาชีพรอรับการช่วยเหลือจะหน่วยงานอื่นๆมากจนบางครั้งดูเหมือนจะทำอะไรเองไม่ค่อยได้ มีอยู่ที่หนึ่งมีการขึ้นบอร์ดแสดงยอดรายได้ของศูนย์ฯในแต่ละเดือนซึ่งยังไม่ได้ถึงครึ่งหนึ่งของรายจ่ายค่าแรงของสมาชิกในศูนย์ฯเลย เมื่อถามสมาชิกถึงสถานะของรายได้ มีคำตอบที่น่าตกใจก็คือไม่เคยมีใครมองบอร์ดที่อาจารย์เขียนไว้ให้รับทราบเลย และตัวอาจารย์เองก็ไม่ได้ประชุมชี้แจงให้สมาชิกทราบ เมื่อมาถึงตรงนี้คนที่อยู่ในบริษัทใหญ่ๆที่มีระบบบริหารที่ดีอาจนึกไม่ออกเลยว่ามีองค์กรเช่นนี้ด้วยหรือ ผมขอบอกว่าในเมืองไทยยังมีองค์กรเช่นนี้อีกมากที่ผู้บริหารไม่ได้สื่อสารเรื่องต้นทุนให้กับพนักงานทราบ พนักงานเองก็ไม่ได้สนใจที่จะรับรู้เรื่องความเป็นไปของบริษัท ขอแค่ได้รับค่าจ้างครบก็เพียงพอ

ชาวทุ่งจี้กำลังนั่งเรียน TQM
เมื่อทุกคนรับทราบสิ่งที่จะมาทำให้ส่งผลกระทบต่อตนเอง โดยเฉพาะเรื่องรายได้ ทุกคนก็เริ่มตระหนักว่าถ้าดำเนินชีวิตแบบเดิมๆอาจไม่ดีพอที่จะทำให้ศูนย์ฯอยู่รอดได้ จึงง่ายขึ้นที่จะนำทุกคนเข้าสู่ช่วงต่อไปของระบบ TQM นั่นคือเรื่องของแนวคิด

แนวคิดของTQMที่เน้นให้กับสมาชิกของศูนย์ฯเรื่องแรกก็คือ Total ให้ทุกคนทั้งองค์กรร่วมมือกันไม่ใช่เฉพาะแค่กลุ่มคนบางกลุ่ม เน้นความสำคัญของทุกคน แนวคิดเรื่องถัดมาคือมุ่งเน้นความสำคัญของลูกค้าทั้งลูกค้าภายนอกและภายใน การพัฒนาสินค้าใหม่ การเขียนลายใหม่ การทำสีใหม่ต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อให้มีงานทำเท่านั้น การหาความต้องการของลูกค้าเป็นเรื่องที่ยากของคนในศูนย์ฯมากเนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากความเป็นเมือง แต่ทุกที่มี Internet แล้วและก็มีสมาชิกบางคนใช้งานเป็น ดังนั้นภายในโรงงาน บ้านทุ่งจี้ ลำปาง
จึงไม่ใช่เรื่องยากในการเสาะหาความต้องการของลูกค้า อีกช่องทางหนึ่งคือหนังสือ วารสารต่างๆที่ได้แนะนำและจัดหามาให้สมาชิกดู จัดตั้งทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำสมาชิกที่มีศักยภาพในแต่ละหน่วยงานมารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ และแนะนำว่าในโลกยุคที่ลูกค้าต้องการความคุ้มค่าสูงสุดนี้ การทำผลิตภัณฑ์ที่มีฟังค์ชั่นของการตกแต่งอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ถ้าเราสามารถผนวกเอาของตกแต่งมารวมกับของที่สามารถมีประโยชน์ใช้สอยได้ก็จะเป็นการดี เช่นอ่างล้างหน้า, โคมไฟ, น้ำพุ, อุปกรณ์ในห้องน้ำ, ชุดเก้าอี้สนามที่มีดีไซน์ ฯลฯ แนวคิดที่เน้นย้ำอีกเรื่องคือเน้นการควบคุมกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ที่จะได้ (Process orientation) ซึ่งถ้าการควบคุมกระบวนการเป็นไปอย่างดีผลลัพธ์ก็จะดีตามไปด้วย ได้จัดทำคู่มือการทำงานในแต่ละขั้นตอนการทำงานเหมือนกับ Work instructionของ ISO9000 และชี้จุดที่สำคัญในการควบคุมกระบวนการในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่การตรวจรับวัตถุดิบ การเตรียมเนื้อดินทั้งดินแท่งจาก Extruding และน้ำดินสำหรับ Slip casting การเตรียมสีเคลือบ การเคลือบและการเผาทั้งเผาบิสกิท เผาเคลือบ และเผา Third firing

แนวคิดต่อมาคือเรื่อง Fact& Data ให้สมาชิกจัดทำใบบันทึกข้อมูลสำหรับลงข้อมูลต่างๆที่สำคัญในการผลิต ในทุกกระบวนการ สำหรับแนวคิดเรื่อง PDCA ได้เอาไปเชื่อมโยงกับการบริหารงานเชิงนโยบาย โดยให้ที่ศูนย์ฯทุ่งจี้จัดทำ Action plan โดยมุ่งเน้นสามหัวข้อใหญ่ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย และการลดต้นทุนการผลิต

หลังจากมอบหมายงานในแต่ละขั้นตอนให้กับทุกศูนย์ ก็จะมีการติดตามผลในทุกเดือนถึงความคืบหน้าของงาน และการพัฒนาของสมาชิกในศูนย์ฯแต่ละแห่ง ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้งานเป็นไปด้วยดีนั้นจะขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงและความเอาใจใส่ของหัวหน้าศูนย์ฯซึ่งเป็นทหารด้วย ซึ่งในแต่ละครั้งที่เข้าไปตามผลก็จะมีปัญหาต่างๆที่ทางสมาชิกพบเจอในการปฏิบัติงาน ยกขึ้นมาให้ช่วยแก้ไข ซึ่งก่อนหน้านั้น (ก่อนการอบรม TQM) สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นปัญหาเลย

ตัวอย่างของปัญหาเช่น อัตราการหล่อแบบที่ช้ามากหล่อได้รอบเดียวต่อวัน สาเหตุมาจากใช้เนื้อดินสำหรับงานปั้นที่มีดินเหนียวสูงมาทำเป็นน้ำสลิปในการหล่อแบบ ก็ได้ทำสูตรปรับเพื่อสามารถนำดินปั้นมาหล่อแบบได้ จากหนึ่งรอบต่อวันเป็นสี่รอบต่อวัน ปัญหาเรื่องสีเคลือบด้านหลังการเผาครั้งที่สามซึ่งเป็นการเผาทอง ซึ่งเมื่อเข้าไปดูเรื่องการเผาพบว่าสมาชิกที่เตาใช้ Firing curve ในการเผาทองนานเกือบเท่าเผาเคลือบทั้งที่อุณหภูมิเพียง 800°C ซึ่งจะทำให้เคลือบเกิดการตกผลึกกลับ (Devitrification) และทำให้เคลือบด้านขึ้นได้ ปัญหาเรื่องงานปั้นขนาดใหญ่แตกร้าวตั้งแต่ช่วงผึ่งแห้ง ปัญหาสีเพี้ยนในการผลิตแต่ละ Lot ปัญหาถ้วยกาแฟแตกเป็นรอยที่ก้นแก้ว ปัญหาเรื่องสีเขียนใต้เคลือบมีสีไม่สดใสและสีเพี้ยนในบางเฉดสี

งานแบบดั้งเดิม ที่สวยงาม แต่ขายไม่ได้
ปัญหาเหล่านี้ถูกยกขึ้นมาเพื่อทำการแก้ไขและสร้างเป็นองค์ความรู้เก็บไว้กับองค์กร เพื่อลดของเสียในกระบวนการ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งทำให้สมาชิกเกิดความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น รู้ปัญหาและแนวทางในการแก้ไข ทำให้หัวหน้าศูนย์กล้าที่จะรับออเดอร์จากลูกค้ามากขึ้น อย่างที่ศูนย์กุดนาขาม ที่หัวหน้าศูนย์ฯ (ผู้กองประดิษฐ์ ซึ่งเป็นทหาร) ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดอีกตำแหน่งหนึ่ง เช่นเดียวกับที่บ้านทุ่งจี้ที่พันโทกาจ หัวหน้าศูนย์จะรับหน้าที่สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายไปด้วยในตัว ซึ่งเป็นไปตามหลักการของ TQM ที่ดึงเอาทุกคนในองค์กรมาร่วมมือกันในการพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไป

สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละศูนย์ฯนั้นจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละศูนย์ฯและเครื่องจักรที่แต่ละศูนย์มี เช่นที่รูปแบบและเทคนิคการเคลือบแบบใหม่ฝีมือชาวทุ่งจี้
บ้านกุดนาขามมีเครื่อง Extrude ที่ใหญ่เพียงพอในการขึ้นรูปทรงแบบใช้การรีดได้ บ้านทุ่งจี้มีเตาฟืนที่สามารถผลิตงานซึ่งแตกต่างจากงานแถบราชบุรีได้ บ้านแม่ต๋ำมีเตาเคลือบหลายขนาดซึ่งสามารถใช้ทำผลิตภัณฑ์ทั้งแบบเคลือบไฟสูงและเคลือบไฟต่ำได้ รวมทั้งทำงานชิ้นเล็กและชิ้นใหญ่ได้พร้อมๆกันรวมทั้งมีช่างปั้นที่สามารถปั้นงานใหญ่ได้ดีมาก ซึ่งผมได้พยายามชี้จุดแข็งของแต่ละศูนย์ฯให้กับทั้งหัวหน้าศูนย์ฯและสมาชิกได้รับทราบ

หลังจากพัฒนาคนในองค์กร ปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน สร้างมาตรฐานในการทำงานในทุกขั้นตอน มีแผนงานสำหรับอนาคต พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับยุคสมัยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการมุ่งเน้นด้านการตลาดและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ว่าเราจะผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้าซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของ TQM

ระยะเวลาที่ยังไม่นานนักในการที่เข้าไปช่วยเหลือปรับปรุงก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทั้งกับชิ้นงานที่ออกมา และการทำงานของสมาชิก ซึ่งสร้างความสุข ความประทับใจให้กับผู้ให้คำปรึกษามาก และรู้สึกดีมากๆในการเข้าไปช่วยเหลือในแต่ละครั้ง ก็ได้แต่ขอเรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านเหล่านี้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยให้ศูนย์ฯยืนได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือได้ว่าได้ช่วยแบ่งเบาภาระของกองศิลปาชีพ ของพระองค์ท่านไปได้อย่างมาก